แพ้ยุง เป็นอันตรายมากขึ้นเมื่อเกิดในเด็ก

แพ้ยุง เป็นภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อการถูกยุงกัดมากกว่าปกติ ซึ่งมักทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่าคนที่ไม่มีอาการแพ้ และยุงก็ชอบที่จะกัดผิวเด็ก ทำให้เด็กเกิดอาการแพ้ยุงกัดได้ เพราะลูกนั้นยังเล็กมากและประกอบกับมีผิวที่อ่อนบอบบางทำให้เกิดอาการได้ง่ายกว่าในผู้ใหญ่ เมื่อลูกแพ้ยุงจึงควรหาวิธีป้องกันกันไว้ก่อน  โดยอาจพบได้ตั้งแต่อาการแพ้ที่ไม่รุนแรงไปจนถึงระดับที่เป็นอันตราย

แพ้ยุง มีอาการแบบไหน และรับมือยังไง

อาการแพ้ยุงนั้นค่อนข้างแตกต่างจากอาการทั่วไปจากการถูกยุงกัดอย่างเห็นได้ชัด เมื่อคนทั่วไปถูกยุงกัดมักจะเกิดตุ่มแดงคันขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตรตามผิวหนัง ซึ่งไม่ร้ายแรงและอาการมักหายเองโดยไม่ต้องรักษา แต่คนที่มีอาการแพ้ยุงจะพบอาการต่อไปนี้หลังถูกยุงกัด

  • อาการคล้ายกับการติดเชื้อ อย่างเป็นไข้และต่อมน้ำเหลืองบวมโต
  • คันตามผิวหนัง ผิวหนังบวมอย่างรุนแรงคล้ายกับการถูกสัตว์หรือแมลงมีพิษต่อย โดยอาจพบอาการบวมตามผิวหนังบริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นวงกว้าง ขนาดตั้งแต่ 2–10 เซนติเมตรภายใน 1 ชั่วโมงหลังถูกกัดและอาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หรือเกิดอาการบวมทั่วร่างกาย หากพบสัญญาณของอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ทันที
  • ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) หรือภาวะแพ้อย่างรุนแรง แม้จะพบได้น้อย แต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หากพบอาการลมพิษ คอบวม ริมฝีปากบวม หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงหวีดแหลม เวียนหัว และคล้ายจะเป็นลม หรืออาการรุนแรงอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์ทันทีเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ อาการแพ้ยุงอาจเป็นอันตรายมากขึ้นเมื่อเกิดในทารก เด็ก และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จากอาการข้างต้นบางคนอาจสับสนหรือเข้าใจผิดระหว่างอาการแพ้ยุงและภาวะผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย (Cellulitis) เพราะบางอาการอาจดูคล้ายกันจนทำให้สับสนได้ แต่ภาวะผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้เกิดหนอง ผิวอุ่นเมื่อสัมผัส เป็นไข้ และหนาวสั่น

หากถูกยุงกัดแล้วพบอาการผิดปกตินอกเหนือจากตุ่มแดงตามผิวหนังและอาการคันที่ไม่รุนแรง อาการค่อย ๆ รุนแรงขึ้น หรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์ เพราะอาการแพ้ยุงและภาวะผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียนั้นมีวิธีรักษาที่แตกต่างกัน

การรับมืออาการแพ้ยุง

วิธีรับมือกับอาการแพ้จากการถูกยุงกัดอาจแตกต่างกันไปตามความรุนแรงและความเหมาะสมดังนี้

ปฐมพยาบาล

แม้จะเป็นเพียงการถูกยุงกัด แต่คนที่แพ้ก็อาจเสี่ยงต่ออันตรายได้ หากถูกยุงกัดควรทำความสะอาดผิวหนังในจุดที่ถูกกัดด้วยน้ำและสบู่ ซับให้แห้ง จากนั้นบรรเทาอาการบวมและคันด้วยการประคบเย็น โดยสามารถใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด ผ้าห่อถุงน้ำแข็ง หรือขวดน้ำเย็นประคบตรงที่ถูกกัดประมาณ 10 นาที

หากบ้านไหนมีเบกกิ้งโซดา (Baking Soda) สามารถเตรียมเบกกิ้งโซดาใส่ถ้วยไว้เล็กน้อย จากนั้นหยดน้ำลงไปเล็กน้อย กวนให้จับตัวกันแล้วใช้พอกบริเวณที่ถูกยุงกัด ทิ้งไว้ 10 นาที ค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาด

ใช้ยาแก้แพ้สำหรับอาการแพ้ไม่รุนแรงหรือรุนแรงปานกลาง

ยาแก้แพ้ (Antihistamines) เป็นยาที่ช่วยยับยั้งการหลั่งสารฮิสตามีน (Histamines) ซึ่งจะหลั่งออกมามากขึ้นเมื่อร่างกายสัมผัสกับสารที่แพ้ ในกรณีนี้คือสารบางอย่างจากน้ำลายของยุงที่เข้าสู่ร่างกายผ่านการกัดทำให้เกิดอาการแพ้

คนที่ทราบว่าตนเองมีอาการแพ้ยุง ควรพกยาแก้แพ้ติดตัวไว้เสมอ โดยสอบถามแพทย์และเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีใช้ที่ถูกต้องและปลอดภัย หากต้องทำกิจกรรมหรือเข้าไปในที่ที่เสี่ยงต่อการถูกยุงกัด อย่างการเข้าค่าย การเดินป่าหรือพื้นที่ที่อาจมียุงชุก ควรมียาแก้แพ้ติดไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ยาแก้แพ้สามารถบรรเทาได้เพียงอาการแพ้ที่ไม่รุนแรงหรือรุนแรงปานกลาง อย่างผื่นแดงคันและอาการบวมเล็กน้อยจากการถูกยุงกัดเท่านั้น หากใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือพบสัญญาณของปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง ควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที

ไม่ควรเการอยที่ถูกยุงกัด

การเกาตรงตำแหน่งที่ถูกยุงกัดจะกระตุ้นให้อาการคันและการอักเสบรุนแรงขึ้น อีกทั้งการเกาอาจทำให้เกิดรอยแผลขนาดเล็กบนผิวหนัง ทำให้เชื้อโรคอาจเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเกาแผลหรือรอยยุงกัดโดยไม่ได้ล้างมือให้สะอาด

ลดความเสี่ยงจากการถูกยุงกัด

มีหลายวิธีที่ช่วยป้องกันการถูกยุงกัด เช่น

  • สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวที่มีสีอ่อน
  • ทำความสะอาดภายในและนอกตัวบ้านเสมอ โดยเฉพาะบริเวณที่มีน้ำขัง อย่างพื้นดิน ถังขยะ หรือภาชนะที่วางไว้นอกตัวบ้าน เนื่องจากยุงแพร่พันธุ์วางไข่ในน้ำ
  • ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ คว่ำถังและกะละมังที่ไม่ใช่งาน รวมทั้งหยดน้ำส้มสายชูหรือทรายอะเบทตามแจกันดอกไม้ ขารองตู้กับข้าว หรือภาชนะอื่นที่มีน้ำภายในบ้าน
  • เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเสมอ
  • กางมุ้งขณะนอนหลับ โดยเฉพาะเวลากลางวัน
  • ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท หรือติดมุ้งลวดกันยุง
  • ทายาหรือโลชั่นกันยุงที่ปลอดภัยต่อผิวหนัง แต่ผู้ปกครองควรระมัดระวังเมื่อต้องทาให้ทารก

ปรึกษาแพทย์

หากคาดว่าตนเองหรือเด็กในบ้านอาจมีอาการแพ้ยุง หรืออาการจากการถูกยุงกัดส่งผลต่อการใช้ชีวิตสามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ได้ สำหรับคนที่มีประวัติแพ้ยุงอย่างรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ในรูปแบบของปากกาเข็มฉีดยา พร้อมแนะนำวิธีใช้เมื่อเกิดอาการแพ้รุนแรงหรือปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงขึ้น ซึ่งหากแพทย์สั่งจ่ายยาดังกล่าวก็ควรพกติดตัวไว้เสมอ

เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงจากการถูกยุงกัดได้หลายวิธี ยิ่งเป็นคนที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ป่า และพื้นที่ธรรมชาติที่อาจมีความเสี่ยงจากการถูกยุงกัดได้มากกว่า ควรต้องดูแลตนเองให้มากขึ้น เพราะนอกจากอาการไม่พึงประสงค์จากการถูกยุงกัดและอาการแพ้ยุง การถูกยุงกัดอาจทำให้เกิดโรคติดเชื้อ อย่างโรคไข้เลือดออกและไข้มาลาเรียได้

แพ้ยุง

5 โรคอันตรายถึงชีวิตที่มาพร้อม “ยุง”

  1. ไข้เลือดออก

พาหะ : ยุงลาย ที่ออกหากินตอนกลางวัน (ปัจจุบันพบยุงลายตอนกลางคืน ช่วงโพล้เพล้อยู่บ้าง)

อาการ : หลังถูกยุงลายกัด 5-8 วัน จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร หรืออาจอาเจียน มีผื่นแดงๆ ตามร่างกาย อาจเลือดออกง่าย ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ และเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ช็อก ชัก บวม แน่นหน้าอก ปวดท้อง หรือมีเลือดออกในอวัยวะภายใน

  1. มาลาเรีย

พาหะ : ยุงก้นปล่อง พบได้มากในป่า พื้นที่รกๆ อากาศร้อนชื้น แหล่งน้ำต่างๆ หรือพื้นที่อื่นๆ ทั่วไป

อาการ : มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเร็ว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน หน้าซีดปากซีดจากการที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย เริ่มเข้าสู่ภาวะโลหิตจาง ตัวเหลืองเหมือนดีซ่าน และอาจมีปัสสาวะสีเข้มเหมือนสีน้ำปลา

  1. เท้าช้าง

พาหะ : โรคเกิดจากพยาธิตัวกลม โดยมียุงเป็นพาหะ

อาการ : มีไข้สูงเฉียบพลัน หลอดน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองอักเสบ โดยอาจพบได้บริเวณอวัยวะต่างๆ เช่น ขา ช่องท้องด้านหลัง ท่อน้ำเชื้ออสุจิ หรือเต้านม ผิวหนังบริเวณที่อับเสบจะบวมแดง มีน้ำเหลืองคั่ง คลำเป็นก้อนขรุขระ แต่ในบางรายอาจไม่แสดงอาการบวมชัดเจน

4. ไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนย่า)

พาหะ : ยุงลาย

อาการ : อาการคล้ายไข้เลือดออกมาก แต่ไม่พบการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการช็อก

  1. ไข้สมองอักเสบ

พาหะ : ยุงรำคาญ พบในนาข้าว เพราะเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ และมีหมูเป็นรังของโรค โดยยุงรำคาญไปกัดหมูที่เป็นโรค และแพร่เชื้อต่อสู่คน และสัตว์อื่นๆ

อาการ :  หลังรับเชื้อ 5-15 วัน จะมีไข้สูง อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หลังจากนั้นจะเริ่มมีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น คอแข็ง สติสัมปชัญญะลดลง ซึม หรือ เพ้อ คลั่ง ชัก หมดสติ หรืออาจมือสั่น เป็นอัมพาต ซึ่งหลังจากอาการของโรคหายไป อาจหลงเหลือความผิดปกติของสมองอยู่บ้าง เช่น พูดไม่ชัด เกร็ง ชัก หรือสติไม่ค่อยปกติ

อาการแพ้พิษจากแมลงอื่นๆ และการดูแลเบื้องต้น

อาการแพ้พิษจากแมลงสามารถสังเกตได้ โดยอาการเริ่มต้นจะมีผื่นบวมแดงขึ้นตามตัวอย่างผิดปกติ บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียร่วมด้วย ตามมาด้วยอาการหายใจลำบาก อึดอัด แน่นหน้าอก ความดันเลือดตก ซึ่งจะเป็นอันตรายหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ระยะเวลาในการแสดงอาการจะต่างกันออกไป ตั้งแต่เป็นนาที จนถึงเป็นชั่วโมง เมื่อได้รับพิษจากแมลง สัตว์ และเกิดอาการแพ้โดยมีอาการเหมือนข้างต้น จะต้องไปพบแพทย์ทันที เพราะ หากปล่อยให้อาการหนักจนถึงขั้นหายใจไม่ออก ความดันตก จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม สามารถรักษาได้แต่ต้องไปพบแพทย์ให้ทันเวลา

ส่วนการกินยาแก้แพ้เพื่อรักษาตนเองนั้นมักจะไม่ได้ผลทันเวลา โดยเฉพาะถ้าเป็นอาการแพ้ชนิดที่รุนแรง จำเป็นต้องให้ยาอีกชนิดหนึ่งชื่อ เอพิเนฟริน (epinephrine) หรืออะดรีนาลิน (adrenalin) และต้องฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือใต้ผิวหนังเพื่อขยายหลอดลมและเพิ่มความดันโลหิตโดยตรง ซึ่งยาจะออกฤทธิ์ทันทีจึงจะสามารถช่วยได้ทัน ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน หากช้าเกินไปจนสมองขาดออกซิเจนก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน

ดูแลตนเองเบื้องต้น

1.ได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษ จำพวก ผึ้ง ต่อ แตน มด

  • มีเหล็กในอยู่ในแผลจะต้องเอาเหล็กในออกให้หมด (เฉพาะผึ้ง)
  • ประคบความเย็น เพื่อลดความเจ็บปวด
  • ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ แล้วทาครีมสตีรอยด์
  • ถ้าปวดมาก ให้กินยาพาราเซตามอล
  • รายที่ถูกต่อต่อยควรกินยาแก้แพ้ร่วมด้วย
  • ถ้าผื่นมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2 นิ้ว หรือ คลื่นไส้ อาเจียนปวดท้องหรือมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือถูกกัดต่อยเป็นจำนวนมากกว่า 20 จุด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

2.ได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษ จำพวก แมงป่อง ตะขาบ

  • ล้างบริเวณแผลด้วยน้ำสะอาด
  • ประคบความเย็นหรือน้ำแข็ง
  • ถ้าปวดให้กินยาพาราเซตามอล
  • ทาบริเวณที่ถูกกัดหรือต่อยด้วยครีมสตีรอยด์ หรือแอมโมเนีย
  • ถ้ามีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจลำบาก และรู้สึกตัวน้อยลง จะต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

เมื่อได้รับพิษจากแมลง สัตว์ และเกิดอาการแพ้โดยมีอาการเหมือนข้างต้น จะต้องไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยให้อาการหนักจนถึงขั้นหายใจไม่ออก ความดันตกจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ยุงและแมลงต่างๆ สามารถกัดคนได้เป็นเรื่องปกติ แต่อาการแพ้ยุงหรือแแพ้พิษจะต่างกันออกไป โดยมีอาการคันตามผิวหนัง ผิวหนังบวมอย่างรุนแรงคล้ายกับการถูกสัตว์หรือแมลงมีพิษต่อย มีอาการบวมตามผิวหนังบริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นวงกว้าง และอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือเกิดอาการบวมทั่วร่างกาย หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ทันที

ที่มา

https://www.pobpad.com/

https://www.phuketinternationalhospital.com/

https://www.thaihealth.or.th/

https://www.istockphoto.com/th/

https://www.istockphoto.com/th/99

 

ติดตามอ่านเรื่องเกี่ยวกับเด็กได้ที่  thetuxproject.com